Page 38 - Prevention_and_Suppression_of_Money_Laundering_Handbook
P. 38
30 |
7.2 การระบุความเสี่ยง
บริษัทต้องระบุความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากการออกผลิตภัณฑ์ใหม่ การให้บริการใหม่ หรือการใช้
เทคโนโลยีใหม่ที่เกี่ยวข้องกับการออกผลิตภัณฑ์หรือให้บริการ โดยควรต้องระบุที่มาของความเสี่ยงด้วย เพื่อให้การ
กำหนดมาตรการในการบริหารความเสี่ยง (การตอบสนองความเสี่ยง) สามารถจะป้องกันหรือบรรเทาความเสี่ยงได้
ถูกประเด็น ทั้งนี้ บริษัทต้องระบุความเสี่ยงในมุมขององค์กรและของลูกค้าควบคู่กัน
7.3 การประเมินความเสี่ยง
ในการประเมินความเสี่ยงขององค์กรและความเสี่ยงของลูกค้าตามประเภทของผลิตภัณฑ์ใหม่
การให้บริการใหม่ หรือการใช้เทคโนโลยีใหม่นั้น บริษัทควรอ้างอิงจากเกณฑ์ระดับความเสี่ยงของบริษัทที่ได้
กำหนดไว้ ดังตัวอย่างที่ได้แสดงไว้ในส่วนที่ 3 ข้างต้น เพื่อให้ทราบว่าผลิตภัณฑ์ใหม่ การให้บริการใหม่ หรือการใช้
เทคโนโลยีใหม่ดังกล่าว ก่อให้เกิดความเสี่ยงมากน้อยเพียงใด
7.4 การตอบสนองความเสี่ยง
บริษัทต้องมีการกำหนดมาตรการในการป้องกันหรือบรรเทาความเสี่ยงเกี่ยวข้องกับการฟอกเงิน
และการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย และการแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูงที่อาจเกิดขึ้น
จากการออกผลิตภัณฑ์ใหม่ การให้บริการใหม่ หรือการใช้เทคโนโลยีใหม่ให้เหมาะสมกับระดับความเสี่ยง
หากผลการประเมินความเสี่ยงพบว่า ระดับความเสี่ยงมีการเปลี่ยนแปลงไปจากที่ได้เคยประเมินไว้
มาตรการในการบริหารความเสี่ยงก็ควรต้องมีการปรับเปลี่ยนตามระดับความเสี่ยงที่เปลี่ยนไปด้วย ทั้งนี้ บริษัท
ควรกำหนดเกณฑ์ของการเปลี่ยนแปลงที่พบด้วยว่า การเปลี่ยนแปลงเช่นใดถือว่ามีระดับความเสี่ยงลดลงและถูก
จัดเป็นระดับความเสี่ยงต่ำ และการเพิ่มขึ้นของความเสี่ยงถึงระดับใดจะถูกจัดว่าอยู่ในระดับความเสี่ยงสูง
ด้วยเหตุนี้ บริษัทจึงต้องมีการประเมินและติดตามระดับความเสี่ยงขององค์กรและระดับความเสี่ยง
ของลูกค้าอย่างสม่ำเสมอ และหากบริษัทพบว่าลูกค้าควรถูกปรับเปลี่ยนระดับความเสี่ยง การดำเนินการดังกล่าว
ควรกำหนดให้ผู้บริหารที่มีอำนาจเป็นผู้อนุมัติ จากนั้นจึงดำเนินการตอบสนองความเสี่ยงตามมาตรการของบริษัท
ที่ได้กำหนดไว้ล่วงหน้า ให้เหมาะสมกับระดับความเสี่ยงที่เปลี่ยนไป
7.5 การติดตามความเสี่ยง
บริษัทต้องจัดให้มีการรายงานผลการบริหารความเสี่ยงเพื่อรายงานให้กับผู้บริหารและผู้ที่เกี่ยวข้อง
ทราบ ว่าบริษัทสามารถบริหารจัดการความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับการฟอกเงินและการสนับสนุนทางการเงินแก่
การก่อการร้าย และการแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง เนื่องมาจากการออกผลิตภัณฑ์ใหม่
การให้บริการใหม่ หรือการใช้เทคโนโลยีใหม่ที่เกี่ยวข้องกับการออกผลิตภัณฑ์หรือให้บริการ ให้อยู่ในระดับ
ที่ยอมรับได้หรือไม่ รวมถึงนำข้อมูลทั้งหมดที่มีมาใช้ประกอบการปรับปรุงกระบวนการในการบริหารความเสี่ยง
ในอนาคตให้มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลยิ่งขึ้น
แนวทางการปฏิบัติตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 และพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการสนับสนุนทางการเงินแก่
การก่อการร้ายและการแพร่ขยายอาวุธ ที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง พ.ศ.2559 สำหรับบริษัทประกันวินาศภัย ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1